ความเสี่ยงของกองทุนรวม

แชร์

ความเสี่ยงทั่วๆ ไปของกองทุนรวม เมื่อมีปัจจัยบวกหรือลบมากระทบ ทำให้ราคาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลให้ มูลค่า NAV ของกองทุนรวมนั้นเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามไปด้วย ความเสี่ยงทั่วๆ ไป ที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนในกองทุนรวม ได้แก่

1. ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (interest rate risk)

เช่น อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดเปลี่ยนแปลงขึ้นลงจนส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้ที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนเปลี่ยนแปลง เพิ่มขึ้นหรือลดลงในทิศทางตรงข้ามกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย

2. ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดโดยรวม (market risk)

เช่น ภาวะเศรษฐกิจในประเทศซบเซา อาจส่งผลให้ราคาของหลักทรัพย์ต่างๆ ที่กองทุนรวมไปลงทุนอยู่มีแนวโน้ม เปลี่ยนแปลงลดลง

3. ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (political risk)

เช่น เกิดการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารประเทศและการลงทุนได้ ซึ่งจะ กระทบบริษัทที่ประกอบธุรกิจ หรือในกรณีที่การเมืองไม่มีความแน่นอน อาจส่งผลให้ภาวะตลาดชะลอตัว ส่งผลให้ราคาของ หลักทรัพย์ในตลาดลดลงหรือชะลอตัวได้

4. ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่กองทุนรวมไปลงทุน (company risk)

เช่น บริษัทบริหารงานผิดพลาดจนทำให้ผลการดำเนินงานขาดทุน

5. ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (credit risk)

เช่น บริษัทที่ออกตราสารหนี้ซึ่งกองทุนรวมเข้าไปลงทุนมีผลการดำเนินงานย่ำแย่จนไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ให้กับกองทุนรวมตามเวลาที่กำหนดได้

6. ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (liquidity risk)

เช่น หลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไม่มาก อาจทำให้ไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้ในราคาหรือจำนวน ที่ต้องการภายในช่วงเวลาอันเหมาะสม

นโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันของแต่ละกองทุนรวมก็ทำให้เกิดความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกัน โดยตัวอย่างประเภท กองทุนรวมตามความเสี่ยงแต่ละระดับ มีดังนี้

 

  กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำมาก

กองทุนรวมตลาดเงิน มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือของตราสารไม่เกิน 1 ปี โดย อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนรวมไม่เกิน 3 เดือน และโดยส่วนใหญ่กองทุนรวมประเภทนี้มักจะมีสภาพคล่องสูง ผู้ลงทุนสามารถ ขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ

กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น เป็นกองทุนรวมที่ บลจ.วางแผนการลงทุนเพื่อให้ความคุ้มครองเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน (ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุน) โดยเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารภาครัฐไทยและ ต่างประเทศ เงินฝาก บัตรเงินฝาก (certificate of deposit: CD) เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพยายามทำให้โอกาสสูญเสียเงินลงทุนเริ่มแรกของ ผู้ลงทุนมีน้อยที่สุด

กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (Short term bond fund) มีนโยบายเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก โดยกำหนดกรอบการลงทุนไว้ว่าอายุตราสารหนี้ในพอร์ต (portfolio duration) ของกองทุนรวมต้องไม่เกิน 1 ปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นจะไม่ผันผวนมากเนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะสั้น

กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้โดยเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ( ไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV)

กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ

กองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป เช่น หุ้นกู้ภาคเอกชน ทั้งนี้ รวมถึงกองทุนที่ลงทุนใน ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ (structured note) ที่คุ้มครองเงินต้นด้วย

กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงปานกลาง

กองทุนรวมผสม ลงทุนได้ทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยบางกองอาจเน้นลงทุนในตราสารหนี้ หรือบางกองอาจเน้นลงทุน ในตราสารทุนมากกว่าก็ได้

  กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูง
กองทุนรวมหุ้นหรือกองทุนรวมตราสารทุน มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV ทั้งนี้ กองทุนรวม ตราสารทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบเน้นสร้างผลตอบแทนเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีอ้างอิงหรือใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงอนุรักษ์ (passive) เช่น กองทุนรวมดัชนีราคาหุ้น กองทุนรวม ETF หุ้น จะมีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุนรวมตราสารทุนที่มีนโยบายการลงทุน ที่เน้นสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าดัชนีอ้างอิง (active)
กองทุนรวมหุ้นของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน หรือ กองทุนรวมตราสารทุนแบบ sector fund มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน เช่น ในธุรกิจด้านพลังงาน ฯลฯ หรือตราสารทุน ในประเทศหรือ กลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่งไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV

 กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงมาก
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนที่ซับซ้อน มีการลงทุนในทรัพย์สินที่ซับซ้อน ทำความเข้าใจได้ยาก เช่น กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน (commodity fund/ gold fund/ oil fund) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (โดยที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือ hedging) เป็นต้น
สำหรับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ foreign investment fund (FIF) ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมจะแตกต่าง ไปจากกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศ เนื่องจากมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่ง ผลกระทบต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการแปลงเงินบาทเป็นเงินสกุลอื่นเมื่อนำเงินไปลงทุนและแปลงกลับมาเป็นเงินบาท เมื่อนำผลตอบแทนมาคืนให้ผู้ลงทุน โดยหากเป็นกองทุนรวม FIF ที่ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (hedging) หรือป้องกันไว้เพียงแค่บางส่วน ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมจะอยู่ในระดับสูง-สูงมาก ตัวอย่างเช่น กองทุนรวม FIF ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำมาก เช่น พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ แต่ไม่มีนโยบาย ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้เลยจะถือว่าเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูง หรือหากเป็นกองทุนรวม FIF ที่มีนโยบาย ลงทุนในกองทุนรวม ETF หุ้น แต่ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเลย ก็จะถือว่าเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยง สูงมาก เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากเป็นกองทุนรวม FIF ที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ทั้งหมดหรือ เกือบทั้งหมด (hedging 90% ของเงินลงทุน) ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมจะอยู่ในระดับต่ำ-สูง โดยขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุนรวม FIF เลือกลงทุน

แหล่งที่มา www.start-to-invest.com​