banner banner

ประวัติธนาคาร

Banner About History 1024x43811

ธนาคารของคนไทย ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

ธนาคารออมสิน ถือกำเนิดโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บรักษาทรัพย์ให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย โดยทรงตราพระราชบัญญัติจัดตั้งคลังออมสินขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2456 ด้วยพระราชปณิธานที่จะให้คลังออมสินเป็นที่เก็บรักษาทรัพย์สินอย่างปลอดภัย และฝิกฝนให้ราษฎรรู้จักเก็บออมทรัพย์อย่างถูกวิธี ซึ่งคลังออมสินได้ยืนหยัดในการทำหน้าที่นี้ตลอดมา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ และอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ ที่จารึกไว้ นั่นคือใน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะคลังออมสินขึ้นเป็นธนาคารออมสิน โดยทรงตราพระราชบัญญัติธนาคารออมสินขึ้น เพื่อรองรับกับความก้าวหน้าของกิจการคลังออมสิน และเปิดดำเนินการในรูปแบบธนาคารตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2490 และในปี พ.ศ. 2509 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารออมสิน ถนนพหลโยธิน ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ อันยังความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นเปรียบเสมือนพลังและแรงใจในการทำงานของชาวธนาคารออมสินในการทำหน้าที่สถาบันการเงินที่ยืนหยัดเพื่อคนไทยและนำพาประเทศพัฒนาในทุกทางสืบไป

การเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งชาติจนถึงวันนี้ความโศกเศร้าอาดูรก็ยังไม่เคยจางลง นับเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับได้ ด้วยทรงเป็นต้นแบบของกษัตริย์ที่ทรงครองแผ่นดินโดยธรรมครบถ้วนทศพิธราชธรรม ที่คงสถิตอยู่ในหัวใจคนไทยเป็นนิรันดร์ และสิ่งหนึ่งที่เราคนไทยจะรวมใจทำให้พระองค์ท่านสุขสถิตในสวรรค์ นั่นคือการดำเนินรอยตามพระจริยวัตรอันงดงามที่พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างให้เราตลอดมา

ในนามธนาคารออมสิน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้จากพระองค์ท่าน ธนาคารออมสินขอน้อมถวายความอาลัยด้วยการแสดงความจงรักภักดีอย่างสูงสุด นับตั้งแต่มีประกาศสำนักพระราชวังเรื่องการเสด็จสวรรคตในวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ธนาคารออมสิน ได้จัดทำสื่อถวายความอาลัยทั้งร้อยแก้วร้อยกรองในทุกช่องทางการสื่อสารนอกจากนี้ยังได้วางแนวทางปฏิบัติในการถวายความอาลัยให้กับสาขาทั่วประเทศเพื่อจักได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรีโดยพร้อมเพรียงกันและได้จัดกิจกรรมสำคัญขึ้นในหลากหลายกิจกรรมเพื่อถวายความอาลัย อาทิ การจัดทำกระปุกถวายความอาลัย การจัดทำบทเพลงและซีดีเพลงถวายความอาลัย การจัดทำเสื้อยึดสีดำแจกประชาชนผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และแม้วันนี้พระองค์ท่านจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่สิ่งหนึ่งทีเราคนไทยทุกคนจะน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านได้นั่นคือ การแสดงความจงรักภักดีสืบสานพระราชปณิธาน ปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้

ธนาคารออมสิน จะดำรงตนเป็นแบบอย่างตามรอยพระราชจริยวัตรอันงดงามยิ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร โดยธนาคารออมสินจะยึดมั่นในการทำหน้าที่ธนาคารที่จะสร้างความสุขให้พี่น้องคนไทยและนำพาความเจริญเพื่อประเทศชาติพัฒนาในทุกด้านสืบต่อไป

ธนาคารของคนไทย เพื่อความสุขที่ยั่งยืน

ทุกย่างก้าวของธนาคารออมสิน นอกจากการทำหน้าที่สถาบันการเงินเพื่อการออมของประเทศแล้ว ยังคงมุ่งมั่นในการทำหน้าที่สืบสานสร้างสรรค์พัฒนาสังคมในทุกด้านเพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้พี่น้องคนไทย โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารได้เป็นเสาหลักสำคัญของรัฐบาลในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในหลากหลายโครงการ อาทิ สินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน / สินเชื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา / บ้านประชารัฐ /การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อยฯ / National e-Payment / มาตรการประชารัฐเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน (พักชำระหนี้) / มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน /โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและเบ็ดเสร็จ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีแผนงานที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้แนวคิด ออมเศรษฐกิจ ออมสังคม ออมสิ่งแวดล้อม อาทิ กิจกรรมตลาดนัดประชารัฐสีชมพู โครงการประกวดชุมชนประชารัฐสีชมพู ซึ่งทุกกิจกรรม ทุกโครงการ ได้ดำเนินการสัมฤทธิ์ตามเป้าประสงค์ที่ทางรัฐบาลได้วางไว้ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ในเชิงบูรณาการได้อย่างยั่งยืน

ธนาคารของคนไทย กับรางวัลแห่งความสำเร็จ

จากความร่วมมือร่วมใจกันผลักดันเป้าหมาย แผนงาน โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมกับการปรับปรุงกระบวนการที่สำคัญ ทั้งกระบวนการทางธุรกิจ การบริหารจัดการ การตรวจสอบและควบคุมภายใน การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการบริหารความเสี่ยง เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานสากล ภายใต้การกำกับและตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2560 โดยมีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ต่อหน่วยงานภายนอก นำมาซึ่งรางวัลเกียรติยศต่าง ๆ ทั้งในระดับองค์กร ด้านผลิตภัณฑ์ และด้านผู้นำองค์กร ที่สร้างความภาคภูมิใจ และเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ธนาคารออมสินพร้อมก้าวเดินหน้าต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยในทุกด้าน

ธนาคารของคนไทย มากกว่าการธนาคาร ธนาคารเพื่อสังคม

เพราะเราเป็นธนาคารของคนไทย  ธนาคารออมสินยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการด้านการเงินที่สามารถตอบสนองความต้องการให้กับพี่น้องคนไทยในทุกด้าน และพร้อมเดินหน้าสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันและช่วยเหลือเกื้อกูล เพื่อนำมาซึ่งอนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และความสุขที่ยั่งยืนของประเทศและประชาชน นับจากนี้ธนาคารออมสินจะเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการทางการเงินที่มีคุณค่า ตอบโจทย์ด้านการเงินของทุกกลุ่มลูกค้า นำมาซึ่งความพึงพอใจสูงสุดของผู้ใช้บริการ และพร้อมที่จะร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค Digital Economy และ Thailand 4.0 เพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ของธนาคารออมสินอย่างสง่างาม เป็นธนาคารของคนไทย….มากกว่าการธนาคาร ธนาคารเพื่อสังคม

ประวัติธนาคารออมสิน

 

ยุคที่ 1

กำเนิดธนาคารออมสิน

คลังออมสินแห่งแรก สังกัดกรมพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พ.ศ. 2456 – 2471

เพื่อให้คลังออมสินได้เป็นประโยชน์เกื้อกูลเผื่อแผ่ไปถึงราษฎรโดยทั่วกัน พระองค์จึงได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการจัดตั้ง “คลังออมสิน” ขึ้นในสังกัด กรมพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงพระคลัง มหาสมบัติ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศใช้ “พระราชบัญญัติคลังออมสิน พ.ศ. 2456” ประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456

ยุคที่ 2

เติบโตอย่างรุดหน้า

กองคลังออมสิน สังกัดกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พ.ศ. 2472 – 2489

ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริเห็นควร โอนกิจการคลังออมสินให้้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมไปรษณีย์โทรเลข กิจการได้เริ่มแพร่หลาย และ เป็นที่นิยมของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งนับได้ว่ากิจการคลังออมสินในช่วงระยะนี้เติบโตขึ้นมาก จึงเรียกได้ว่าเป็น “ยุคแห่งความก้าวหน้าของการคลังออมสินแห่งประเทศไทย”

ยุคที่ 3

รากฐานความมั่นคง

ธนาคารออมสิน สังกัดกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2490 – ปัจจุบัน

ต่อมาภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลได้เห็นถึงคุณประโยชน์ ของการออมทรัพย์และ ความสำคัญของ คลังออมสินที่มีต่อการพัฒนาประเทศ จึงได้ยกฐานะของคลังออมสินขึ้นเป็น องค์การของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินธุรกิจภายใต้ “พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489” มีการบริหารงานโดยอิสระ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้ง จาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เริ่มดำเนินธุรกิจในรูปธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2490 และคำว่า “คลังออมสิน” ก็ได้เปลี่ยน เป็นคำว่า “ธนาคารออมสิน” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ยุคที่ 4

โฉมใหม่ สู่ความทันสมัยครบวงจร

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงพัฒนาระบบการดำเนินงาน และการบริการในทุกด้านอย่างเป็นพลวัตร ธนาคารจึงได้ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อรักษา ฐานลูกค้ามากกว่า 26 ล้านบัญชี โดยระดมทรัพยากรในทุกด้าน เตรียมการเพื่อปรับปรุง ภาพลักษณ์ และรูปแบบการให้บริการที่ทันสมัยและครบวงจรยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการที่ สอดคล้องต่อความต้องการและครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

 

Skip to content