ธนาคารออมสินได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนในประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 โดยธนาคารออมสินทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเงินช่วยเหลือในโครงการนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย และได้ตั้งหน่วยโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อทำหน้าที่บริหารเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนอนุรักษ์ชั้นโอโซน (Ozone Projects Trust Fund : OTF) ตามพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมรณรงค์ และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของชั้นบรรยากาศโอโซน
ในปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ นั้นส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในปริมาณที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจควรสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ตามหลักการที่เรียกว่า ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) เพื่อให้การบริหารจัดการธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ควบคู่กับมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นที่ธนาคารต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ให้เกิดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารออมสินได้มีมติอนุมัติแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions Roadmap ทั้ง 3 Scope ภายในปี 2050 โดยในอีก 7 ปีข้างหน้าตั้งเป้า Net Zero สำหรับ Scope 1 และ 2 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ขณะที่ Scope 3 ที่เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุน ธนาคารจะดำเนินการคู่ขนานจนสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมลงได้มากกว่า 50% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050