Shutterstock 621941411 [converted]

การสร้างประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ( Eco-Efficiency)

ในปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ นั้นส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในปริมาณที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจควรสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ตามหลักการที่เรียกว่า ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) เพื่อให้การบริหารจัดการธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ควบคู่กับมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นที่ธนาคารต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ให้เกิดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

ธนาคารออมสินเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยนำหลักการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจเข้ามาใช้กำหนดแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคาร เพื่อให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมดำเนินไปในทิศทางเดียวกันอย่างสมดุล โดยหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และเป็นการขับเคลื่อนการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในหลักการเรื่องประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ตามมาตรฐาน ISO 14045:2012 (Eco-efficiency assessment – Principles, requirements and guidelines) ที่เป็นปรัชญาการบริหารที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญทั้งในด้านการเพิ่มมูลค่า (Value creation) และการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม (Environmental impact) ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การลดการใช้น้ำ และส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

ธนาคารมีการกำหนดนโยบายอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservation Policy) และมีการทบทวนนโยบายในทุก ๆ ปี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านพลังงาน และเพื่อให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการจัดทำประกาศธนาคาร เรื่อง นโยบายอนุรักษ์พลังงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ธนาคารจะดำเนินการและพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ โดยกำหนดให้การอนุรักษ์พลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของหน่วยงาน โดยมีคณะทำงานด้านการจัดการพลังงานเป็นผู้ดำเนินการ
  • ธนาคารจะดำเนินการปรับปรงุประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรพลังงานขององค์กรอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับการทำงาน เทคโนโลยีที่ใช้ และแนวทางการปฏิบัติงานที่ดี
  • ธนาคารจะกำหนดแผนและเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานในแต่ละปีและสื่อสารให้พนักงานและลูกจ้างทุกคนเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
  • ธนาคารถือว่าการอนุรักษ์พลังงานเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารทุกระดับ พนักงาน และลูกจ้างทุกคน ที่จะต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด
  • ธนาคารจะให้การสนับสนุนที่จำเป็น รวมถึงทรัพยากรด้านบุคลากรด้านงบประมาณ เวลาในการทำงาน การฝึกอบรมและการมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อคิดเห็น เพื่อพัฒนางานด้านพลังงาน
  • ผู้บริหารและคณะทำงานด้านการจัดการพลังงานจะทบทวนและปรับปรุงนโยบาย เป้าหมาย และแผนการดำเนินงานด้านพลังงานทุกปี

ธนาคารยังได้กำหนดให้มีคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดการพลังงานของธนาคารให้มีประสิทธิภาพ และคณะผู้ตรวจประเมินการจัดการด้านพลังงาน ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบประเมินวิธีการจัดการพลังงานให้เป็นไปตามแนวทางที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกำหนดไว้ และมีการแต่งตั้งคณะทำงานวัดและประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) และกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการการดำเนินงานเพื่อสร้างประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ตามมาตรฐาน ISO 14045 ที่สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของธนาคาร

 

ผลการประเมินค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency)

ในปี 2565 ธนาคารออมสินได้กำหนดตัวชี้วัดทางด้านคุณค่าของระบบผลิตภัณฑ์ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของธนาคารออมสิน เพื่อประเมินค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ที่มีขอบเขตการพิจารณากิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร 2 ค่า ได้แก่

  • ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) ที่มีขอบเขตกิจกรรมตามการรายงาน CFO ขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 (กิจกรรมที่องค์กรควบคุมการดาเนินงานได้ เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การรั่วไหลสารทำความเย็น และการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น)
  • ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) ที่มีขอบเขตกิจกรรมตามการรายงาน CFO ขอบเขตที่ 3 (กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ขององค์กร เช่น การให้สินเชื่อกับภาคธุรกิจ)

ทั้งนี้ สำหรับค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของธนาคารออมสิน ซึ่งคำนวณตามมาตรฐาน ISO14064-1 (2018) และข้อกำหนดในการคำนวณและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

หน่วย : ล้านบาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

    2564 2565
ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจโดยใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 ในการคำนวณ   81.007 86.181
ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจโดยใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 3 ในการคำนวณ   0.048 0.042

หมายเหตุ ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ คำนวณได้จาก คุณค่าของระบบผลิตภัณฑ์ หารด้วย ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยจำนวนธุรกรรมทั้งหมดในรอบปีการายงานและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารออมสิน

จากผลการประเมินค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้มีการทบทวนตัวชี้วัดตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งพิจารณาชุดข้อมูลกิจกรรมในปี 2564 และปี 2565 พบว่า ในปี 2565 ธนาคารออมสินมีค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) จากขอบเขตการประเมินขอบเขตที่ 1 และ 2 เท่ากับ 86.1806 ล้านบาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งสูงกว่าปี 2564 ที่มีค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจอยู่ที่ 81.0070 ล้านบาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานขององค์กรที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากยอดเงินฝากคงเหลือและยอดสินเชื่อในปี 2565 ซึ่งสูงกว่ายอดในปี 2564 อย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 ขององค์กรในปี 2565 (51,826 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) จะมีค่าสูงกว่าปี 2564 (50,985 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)

สำหรับค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจจากขอบเขตการประเมินขอบเขตที่ 3 ปี 2565 (0.04170 ล้านบาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) มีค่าต่ำกว่าปี 2564 (0.04830 ล้านบาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร พบว่าปี 2565 มีค่าสูงกว่าปี 2564 ในทุกขอบเขต โดยขอบเขตที่ 1 เป็นผลมาจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ขอบเขตที่ 2 มาจากการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และขอบเขตที่ 3 เป็นผลมาจากการให้สินเชื่อกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมากขึ้น

 

แชร์เนื้อหา :
Skip to content