วางใจให้ออมสิน

ดูแลความสุขของชีวิตคุณ

banner banner
หน้าหลัก > บล็อกการเงิน > Lifestyle > How to ปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับมือใหม่

How to ปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับมือใหม่

18 มิ.ย. 2562

 

อย่างที่เราเคยได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ว่า “อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ” ถึงจะระวังตัวดีแค่ไหน แต่เราก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดกับเราหรือเปล่า บางทีเกิดขึ้นจากการพลาดพลั้งของตัวเราเอง บางทีเกิดจากความไม่ระมัดระวังของบุคคลอื่น หรือเกิดเรื่องบางอย่างขึ้นกับคนใกล้ตัวของเรา ทั้งหลายนี้เราไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้เลย แต่เมื่อใดก็ตามที่มันเกิดขึ้น การรู้หลักการเบื้องต้นในการปฐมพยาบาลเอาไว้ให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น

 

ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น

ก่อนที่จะทำการปฐมพยาบาลนั้น เราต้องรู้จักประเมินสถานการณ์ก่อน เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้น จะได้วางแผนการปฐมพยาบาลในลำดับถัดไปได้ถูกต้อง ซึ่งการประเมินสถานการณ์นี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ

การประเมินสถานการณ์ : ตรวจสอบสภาพแวดล้อมของที่เกิดเหตุว่า มีอยู่ในภาวะอันตราย รุนแรง หรือ ปลอดภัยเพียงใด สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้หรือไม่ ถ้าอันตราย ควรติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยให้เข้าไปในพื้นที่แทน

การประเมินสภาพผู้ป่วย : ตรวจสอบอาการของผู้ป่วย ว่ามีความผิดปกติตรงไหนบ้าง โดยตามหลักการแล้ว ต้องปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติ โดยเฉพาะผู้ที่หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และเสียเลือดมากเป็นลำดับแรก

 

ขั้นตอนการปฐมพยาบาล พร้อมแนวทางป้องกัน

ในแต่ละอาการก็จะมีขั้นตอนในการปฏิบัติ และวิธีป้องกันที่แตกต่างกันออกไป ลองดูตัวอย่างอาการที่พบบ่อย พร้อมวิธีรับมือ ดังนี้

 

ความดันต่ำ/ หน้ามืด/ เวียนศีรษะ

1. ให้นอนลงสักพัก แล้วลุกขึ้นใหม่ โดยลุกให้ช้า และอย่าลุกอย่างรวดเร็ว เช่น ค่อย ๆ ลุกจากท่านอนขึ้นมานั่ง นั่งพักสักครู่หนึ่ง ลองขยับและเกร็งขาหลาย ๆ ครั้งเพื่อเตรียมกล้ามเนื้อ จากนั้นค่อย ๆ ขยับจากนั่งเป็นยืน  หยุดยืนนิ่งสักครู่หนึ่ง แล้วค่อยลองเดิน
2. ถ้ายังมีอาการให้กินยาหอม หรือกดจุดช่วย  เช่น ตรงหว่างคิ้ว ขมับ ท้ายทอย หรือนวดฝ่ามือเบา ๆ
3. ถ้าหากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอก ปวดท้องหรืออาเจียนรุนแรง ใจสั่น ชีพจรเต้นรัว เหงื่อออกมาก หรือลุกนั่งแล้วมีอาการคล้ายจะเป็นลม ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว หรือโทรหาสายด่วน 1669 เพื่อเรียกบริการรถฉุกเฉิน

การป้องกัน : ออกกำลังกายเพิ่มทีละน้อย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ

 

อาการเป็นลม/ หมดสติ

1. จัดท่านอนให้ถูกต้อง โดยให้นอนหงายลงกับพื้น ไม่ต้องหนุนหมอนที่ศีรษะ กางแขนและขาให้เหยียดออก นำหมอนหรือสิ่งอื่นรองขาและเท้าให้อยู่สูงกว่าลำตัว
2. คลายเสื้อผ้าออกให้หลวม จะได้หายใจได้สะดวกและไม่อึดอัด
3. ถอดฟันปลอมและของในปากออก เพื่อไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปติดในลำคอ
4. พัดให้ลมถูกหน้าและลำตัวของผู้ป่วย พยายามไม่ให้คนมามุง อากาศจะได้ถ่ายเท
5. ให้ดมยาดมหรือยาหม่อง เอาผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นเช็ดหน้า และคอยนวดแขนและขาให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ถ้าเวลาผ่านไป 30 นาทีแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้พาส่งโรงพยาบาลทันที
6. กรณีอาการเป็นลมหมดสติ และหยุดหายใจ/ ชัก/ จุกแน่นที่หน้าอก/ หายใจไม่ออก ให้รีบพบแพทย์ทันที
การป้องกัน : ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ดื่มน้ำร้อน ๆ อย่างเช่น น้ำขิง หรือ น้ำกระชาย เป็นต้น

 

แผลมีดบาด (แผลตื้น เลือดออกไม่มาก)

1. ใช้สำลีเช็ดเลือด แล้วกดห้ามเลือดที่บาดแผล
2. ใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบบาดแผล
3. ใช้สำลีชุบยาทาแผลสดทาบริเวณรอบบาดแผล
4. ใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ปิดแผลให้สนิทเพื่อป้องกันเชื้อโรค โดยควรทำความสะอาดแผลและเปลี่ยนผ้าพันแผลวันละ 1 ครั้ง จนกว่าแผลจะหาย

 

แผลสุนัขกัด

1. ให้รีบทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ในบริเวณที่โดนน้ำลายหรือกรงเล็บของสุนัข โดยถูเบา ๆ ให้ทั่วบริเวณปากแผล
2. ซับแผลให้แห้ง จากนั้นใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบบาดแผล
3. ใช้สำลีชุบยาทาแผลสดทาบริเวณรอบบาดแผล
4. ใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ปิดแผลให้สนิทเพื่อป้องกันเชื้อโรค
5. รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณาฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ฉีดยาป้องกันโรคกลัวน้ำ และใช้ยาปฏิชีวนะ

 

แผลไฟไหม้/ น้ำร้อนลวก

1. ให้รีบทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ เปิดน้ำให้ไหลผ่านแผล หรือแช่อวัยวะบริเวณที่เป็นแผลในน้ำสะอาด พักไว้ประมาณ 15-20 นาที หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะลดลง
2. ไม่ควรใส่ตัวยา ครีม หรือสารใด ๆ ลงบนแผล หากยังไม่รู้สรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาสีฟัน และยาหม่อง เพราะตัวยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่บาดแผล เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ และทำให้รักษาแผลได้ยากขึ้น
3. ซับแผลให้แห้ง แล้วปิดแผลด้วยผ้าพันแผลเพื่อป้องกันเชื้อโรค
4. ถ้าเป็นแผลไหม้/ นำร้อนลวกในบริเวณกว้าง ให้รีบพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ หากเป็นเพียงอุบัติเหตุเล็ก ๆ ก็ไม่ก่อความเสียหายต่อตัวเราหรือทรัพย์สินสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นอุบัติเหตุใหญ่ ๆ เช่น ตกบันไดขาหัก น้ำร้อนลวกรุนแรง หรือโดนเฉียวชน ก็อาจจะเจ็บทั้งกาย เจ็บทั้งกระเป๋าสตางค์ก็ได้ แต่ถ้าใครที่มีบัตรเดบิตSmartLife หรือ SmartCareของธนาคารออมสินก็หายห่วงไปได้เลย เพราะนอกจากจะกดเงินสด ใช้จ่ายผ่านบัตรได้แล้ว ยังให้ความคุ้มครองชีวิตและอุบัติเหตุอีกด้วย ค่าธรรมเนียมรายเดือนก็ไม่ได้แพงอย่างที่คิด

 

สุดท้ายนี้ อยากให้พึงระวังไว้ว่า “อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ” ดังนั้น เราต้องระมัดระวังตัวเองให้ดี ไม่ประมาท และอย่างน้อย ๆ เราก็ควรรู้วิธีปฏิบัติเบื้องต้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเรา หวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อยนะคะ

 

———————————

ออมสินแนะนำ
บัตรเดบิต SmartLife บัตรเดบิต SmartCare
Skip to content