ต้นกำเนิดธงไตรรงค์
พุทธศักราช 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงออกพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 มีใจความตอนหนึ่งว่า “ธงสำหรับชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐานขึ้นตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2459 นั้น ยังไม่เปนสง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าไปอีกสีหนึ่ง ให้เปนสามสี ตามลักษณธงชาติของประเทศที่เปนสัมพันธมิตรกับกรุงสยามได้ใช้อยู่โดยมากนั้น เพื่อให้เปนเครื่องหมายให้ปรากฏว่า ประเทศสยามได้เข้าร่วมสุขทุกข์ แลเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ ช่วยกันกระทำการปราบปรามความอาสัตย์อาธรรมในโลกย์ ให้พินาศประลัยไป อีกประการหนึ่งสีน้ำเงินนี้เปนสีอันเปนศิริแก่พระชนมวาร นับว่าเปนสีเครื่องหมายฉเภาะพระองค์ด้วย จึงเปนสีที่สมควรจะประกอบไว้ในธงสำหรับชาติด้วยประการทั้งปวง โดยกำหนดดังนี้
ธงชาติสยาม รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 3 ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาว กว้าง 1 ส่วน ซึ่งแบ่ง 6 ของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่ากับแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ ให้เรียกว่าธงไตรรงค์ สำหรับใช้ชักในเรือพ่อค้าทั้งหลาย แลในที่ต่างๆ ของสาธารณชน บรรดาที่เปนชาติสยามทั่วไป ส่วนธงพื้นแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เปนธงชาติ สำหรับสาธารณชนชาวสยามมาแต่ก่อนนั้นให้เลิกเสีย”
ธงไตรรงค์ ธำรงไทย… สัญลักษณ์แห่งการรวมใจ ความรักและสามัคคี
ธงชาติไทย…สัญลักษณ์สูงสุดของชาติ สิ่งเตือนใจให้อนุชนได้ระลึกถึงการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษ เพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดิน และร้อยดวงใจคนทั้งชาติให้เป็นหนึ่ง หล่อหลอมความรัก สามัคคี สร้างเสริมความภูมิใจในความเป็นชาติ ก่อเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาชาติไทยให้วัฒนาสถาพร
การเปลี่ยนแปลงจากธงแดงขาวห้าริ้วเป็นธงไตรรงค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งได้ทรงออกแบบธงไตรรงค์ ได้พระราชนิพนธ์ “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” เพื่อสื่อความหมายของสีทั้งสามที่อยู่ในธงชาติไว้ด้วย ดังนี้
ขอร่ำรำพรรณบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย
แห่งสีทั้งสามงามถนัด
ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์
และธรรมะคุ้มจิตไทย.
แดงคือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้
เพื่อรักษะชาติศาสนา.
น้ำเงินคือสีโสภา อันจอมประชา
ธ โปรดเปนของส่วนองค์.
จัดริ้วเข้าเปนไตรรงค์ จึ่งเป็นสีธง
ที่รักแห่งเราเชาไทย.
ทหารอวตารนำไป ยงยุทธ์วิชัย
วิชิตก็ชูเกียรติสยามฯ
จากบทพระราชนิพนธ์เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักออกแบบธงชั้นยอดที่สามารถออกแบบธงให้มีความหมายรวมถึงสถาบันหลักของแผ่นดิน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสัญลักษณ์บนผืนธงชาติได้อย่างงดงาม พระองค์คือผู้ให้กำเนิดธงไตรรงค์ จึงนับเป็นความภูมิใจของชาวไทยทุกคนที่ต้องตระหนักไว้เสมอและตลอดไป