banner banner
หน้าหลัก > ข่าวสาร > ข่าวประชาสัมพันธ์ > สรุปผลการประชุมปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting) ระหว่างวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2565

สรุปผลการประชุมปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting) ระหว่างวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2565

24 มี.ค. 2565

Apec

 

สรุปผลการประชุมปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting)
กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปคภายใต้แนวคิดหลัก ระหว่างวันที่ 16 – 17 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุมมีการหารือที่สำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงานความร่วมมือภายใต้กรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค 2022 หรือ APEC Finance Ministers’ Process Work Plan 2022 โดยแผนงานดังกล่าวให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูภูมิภาคเอเปคในบริบทโลกหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยมี 2 ประเด็นสำคัญ (Priorities) ที่ต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

1. การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ซึ่งมุ่งเน้นการหาแนวทางในการจัดหาแหล่งทุนสำหรับทุกภาคส่วนเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งทุนผ่านตลาดทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการออกมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น โครงการรถไฟสายสีส้ม โครงการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น โดยจะสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้ เพื่อสังคม (Social Bond) เพิ่มขึ้น เพื่อเร่งให้เกิดโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น

2. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของภาครัฐ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนให้ได้มากยิ่งขึ้น โดยได้เน้นด้านการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกันในภูมิภาคเอเปค ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่
2.1 การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ อาทิ การนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจและช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” เป็นต้น ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น
2.2 การหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมโยงการชำระเงินในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Payment Connectivity) เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างเขตเศรษฐกิจสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งมีต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินลดลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมของภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดาและยังเป็นการอำนวยสะดวกทางการค้า รวมถึงการค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปค
2.3 การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการส่งเสริมภาคธุรกิจในการระดมทุนผ่านตลาดทุน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs และเป็นโอกาสที่ให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงการลงทุนได้มากยิ่งขึ้น เช่น การระดมทุนโดยผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กและขนาดย่อม ผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (Crowdfunding) เป็นต้น

การดำเนินมาตรการข้างต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไทยเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และกระจายผลประโยชน์สู่เศรษฐกิจระดับฐานราก รวมถึงสนับสนุนการเติบโตอย่างครอบคลุมต่อไป

ที่มา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

Skip to content