วางใจให้ออมสิน

ดูแลความสุขของชีวิตคุณ

banner banner
หน้าหลัก > บล็อกการเงิน > Financial > “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” ต้องมีเท่าไหร่ถึงเรียกว่าปลอดภัย?

“เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” ต้องมีเท่าไหร่ถึงเรียกว่าปลอดภัย?

17 มิ.ย. 2562

 

            “เงินสำรองฉุกเฉิน” เงินก้อนนี้ถือเป็นพื้นฐานด้านการเงินเลยก็ว่าได้ เพราะในชีวิตเรา มีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยที่เราไม่มีวันรู้ล่วงหน้า ไหนจะค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ หรือค่าใช้จ่ายหากวันหนึ่งเกิดมีเหตุให้ออกจากงานขึ้นมา ดังนั้น เงินก้อนนี้จึงสำคัญ แต่ก็มีคำถามเยอะว่า ต้องเก็บออมในสัดส่วนเท่าไหร่ถึงจะถือว่าปลอดภัย ? วันนี้เรามีคำตอบมาให้ดูกัน

 

เงินสำรองฉุกเฉินต้องมีเท่าไหร่?

เริ่มจากจดรายการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือนออกมาก่อน เพื่อเราจะได้รู้ว่า ในแต่ละเดือนเราต้องใช้เงินไปกับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น..

  • ค่าที่อยู่อาศัย เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ค่าประกันภัย และค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ
  • ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทางค่าโทรศัพท์
  • ค่ารักษาสุขภาพ เช่น ค่ายาค่ารักษาที่ต้องใช้เป็นประจำทุกเดือน ค่าทำฟัน จัดฟัน
  • ค่าประกันต่าง ๆ เช่น ประกันรถยนต์ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ
  • ค่าบัตรเครดิต และหนี้สินต่าง ๆ

โดยปกติจะคำนวณเงินสำรองฉุกเฉินจากค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นหลัก โดยเกณฑ์การคำนวณจะแบ่งออกเป็น 2 แนวคิด คือ สำหรับมนุษย์เงินเดือน และสำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์

 

แนวคิดมนุษย์เงินเดือน

เนื่องจากมนุษย์เงินเดือนนั้นมีรายได้ต่อเดือนที่แน่นอน ทำให้ได้เปรียบในการจัดสรรและบริการจัดการรายได้ที่เข้ามา ซึ่งโดยปกติจะแนะนำให้สำรองเงินฉุกเฉินไว้ที่ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน

ตัวอย่าง
ปกติมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 70% ของเงินเดือน หากมีเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท   แสดงว่ามีค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ที่ 10,500 บาทต่อเดือน ในกรณีนี้ เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ที่ 31,500 – 63,000 บาท หากเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น หากต้องออกจากงานกะทันหัน เงินสำรองก้อนนี้จะช่วยเราได้ในช่วงรอเปลี่ยนงานใหม่ลองศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง กลยุทธ์เก็บเงินสไตล์มนุษย์เงินเดือน เพื่อเป็นแนวทางในการออมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แนวคิดคนทำงานฟรีแลนซ์

ต้องยอมรับว่า มนุษย์ฟรีแลนซ์นั้นมีรายได้ที่ไม่แน่นอนในแต่ละเดือน บางเดือนก็อาจมีคนว่าจ้างมากจนถึงขั้นล้น ทำงาน รับทรัพย์กันไม่ทันก็มี หรือบาง  เดือนอาจเงียบหน่อย ไม่ค่อยมีคนว่าจ้าง รายได้ก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่สามารถคาด เดาได้ ดังนั้น อาจจะต้องสำรองเงินฉุกเฉินไว้มากกว่ามนุษย์เงินเดือนอีก  ประมาณ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว

ตัวอย่าง
ปกติมีค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท ต้องคิดเผื่อสถานการณ์ที่เลว  ร้ายที่สุด คือ ไม่มีผู้ว่าจ้างเลยตลอด 6 เดือน – 1 ปี ดังนั้น เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ที่ 90,000 – 180,000 บาท

 

เก็บเงินอย่างไรดี ?

การเก็บเงินสำรองฉุกเฉินควรเลือกเก็บในที่ที่มีสภาพคล่องสูง หมายถึงสามารถนำเงินออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว และต้องมีความเสี่ยงต่ำ หากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น จะได้ไม่ขาดทุนเงินต้นหากต้องนำเงินออกมาก่อน เช่น เงินฝากออมทรัพย์กองทุนตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

 

            นอกจากจะมองเรื่องการออมและการลงทุนให้เงินงอกเงยแล้ว เรื่องเงินสำรองฉุกเฉินก็เป็นเงินอีกก้อนที่ห้ามมองข้ามเด็ดขาด เริ่มเก็บตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่สดใสในวันข้างหน้า เพราะเราไม่รู้ว่า วันที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้จริง ๆ จะมาถึงเมื่อไหร่ และควรจำไว้เสมอว่า เงินก้อนนี้มีไว้ใช้ในยามคับขันหรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อตัวเองและครอบครัวเท่านั้น กระเป๋าใหม่ รถใหม่ บ้านใหม่ ไม่ถือเป็นเหตุฉุกเฉินนะ

Skip to content