วางใจให้ออมสิน

ดูแลความสุขของชีวิตคุณ

banner banner
หน้าหลัก > บล็อกการเงิน > Financial > เตรียมรับมือกับภาษีเงินได้บุคคลแต่เนิ่นๆ

เตรียมรับมือกับภาษีเงินได้บุคคลแต่เนิ่นๆ

20 มิ.ย. 2562

 

ลองคำนวณเงินภาษีที่เราต้องจ่ายตอนสิ้นปี

 บางคนไม่เคยสนใจเลยว่าเราต้องจ่ายภาษีสิ้นปีเท่าไร มันจะดีกว่ามากถ้าเราเริ่มต้นเสียแต่ตอนต้นปี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนสำหรับการจ่ายภาษี และการหักลดหย่อนภาษีในรูปแบบต่างๆ ขั้นแรกก็คือ เราต้องลองคำนวณเงินภาษีที่เราจะจ่ายตอนสิ้นปีออกมาให้ได้ก่อน
 สำหรับคนที่มีรายได้ทางเดียว โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนนั้น การรับรู้รายได้ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ถ้าเรามีเงินเดือนละ 3 หมื่นบาท เราจะมีรายได้ทั้งปีราว 3.6 แสนบาท หากเราคิดว่าเราได้โบนัสตอนสิ้นปีราว 4 หมื่นบาท เท่ากับเรามีรายได้รวมทั้งปี 4 แสนบาท แล้วเราจึงนำเงินที่คำนวณได้มาวางแผนการจ่ายภาษีสำหรับสิ้นปี
 ส่วนคนที่มีหลายได้หลายทาง เราต้องประเมินรายได้ที่ควรจะเป็นออกมาให้ได้
กรณีตัวอย่างเช่น
 นาย A มีรายได้จากงานประจำทั้งปี 5 แสนบาท และมีรายได้จากงานเสริมอีก 5 แสนบาท ดังนั้นนาย A จึงมีรายได้รวมทั้งปี 1 ล้านบาท แล้วจึงนำรายได้ที่ควรจะเป็นมาวางแผนภาษีอีกที 

 มองหาวิธีหักลดหย่อนภาษี

 หลังจากเราคำนวณรายรับตลอดทั้งปีออกมาได้แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่เราต้องหาวิธีลดหย่อนภาษี โดยทั่วไปแล้วการลดหย่อนภาษีทำได้หลายวิธีดังต่อไปนี้

  • หักลดหย่อนเบื้องต้น ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ค่าเลี้ยงดูบุตร-ภรรยา ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป เราสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติม
  • ซื้อกองทุนรวม สำหรับการซื้อกองทุนรวมนั้น สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ กองทุนรวมที่น่าสนใจได้แก่ LTF และ RMF สำหรับจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ และสูงสุดนั้น LTF จะไม่มีขั้นต่ำ แต่ลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ในปีนั้นๆ และไม่เกิน 5 แสนบาท ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเงินได้ของเราทั้งปี 4 แสนบาท จะสามารถลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 0.15*400,000 =  60,000 บาท
  • สำหรับการลงทุนใน RMF ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แต่ลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 5 แสนบาทเช่นกัน โดยต้องรวมเข้ากับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. และเบี้ยประกันแบบบำนาญอีกด้วย
  • ซื้อประกันชีวิตลดหย่อนภาษี สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือนำประกันของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 1 หมื่นบาทเช่นกัน
  • ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท
  • เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 1 หมื่นบาท

 หักลดหย่อนภาษีรูปแบบอื่นๆ อันได้แก่ ค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ดอกเบี้ยที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด และค่าใช้จ่ายในการทำบุญ เป็นต้น 

วางแผนการเสียภาษีให้ครอบคลุม

 เมื่อเรารู้เงินได้ทั้งปีของเราแล้ว และมองหาวิธีต่างๆ ในการหักลดหย่อนภาษีปลายปีเป็นที่เรียบร้อย เราก็ต้องวางแผนการเสียภาษีให้ครอบคลุม (เป้าหมายเพื่อจ่ายภาษีให้น้อยลง หรือน้อยที่สุด) ด้วยการคำนวณว่าเราจะนำอะไรมาหักลดหย่อนภาษีได้บ้าง โดยสามารถเข้าไปคำนวณได้ที่โปรแกรมคำนวณภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากร คลิกที่นี่
 หรือคำนวณค่าใช้จ่ายทางการเงิน การซื้อประกัน ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี หรือแม้แต่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ 
 หากเรารู้จักคำนวณค่าใช้จ่ายด้านภาษีแต่เนิ่นๆ จะทำให้รู้ว่าควรวางแผนซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อลดภาษีได้เท่าไร พอปลายปีแทนที่เราจะจ่ายเงินภาษีไปเปล่าๆ ก็นำเงินที่ต้องจ่ายไปซื้อกองทุนรวม หรือไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ เพื่อลดหย่อนภาษีแทน บางครั้งเราก็จะได้ภาษีคืน มีเงินเพิ่มปลายปี เรียกว่า “กำไรสองต่อ” คือ ได้นำเงินไปใช้-ไปลงทุน แถมยังได้ภาษีคืนกลับมาอีกด้วยนั่นเอง 

อย่าลืมวางแผนภาษีแต่เนิ่นๆ คิดช้าเกินไประวังต้องจ่ายภาษีจนหน้ามืด แต่ถ้าเริ่มต้นวางแผนตั้งแต่วันนี้ รับรองว่าปลายปีเราจะสามารถยิ้มออกได้อย่างแน่นอน

 

————————–

 
Skip to content