วางใจให้ออมสิน

ดูแลความสุขของชีวิตคุณ

banner banner
หน้าหลัก > บล็อกการเงิน > Financial > ออมให้รวย ง่าย ๆด้วยการลงทุนแบบประจำ

ออมให้รวย ง่าย ๆด้วยการลงทุนแบบประจำ

20 มิ.ย. 2562

 

ไม่ใช่แต่เพียงประเทศไทยที่ประสบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำ แต่เรียกได้ว่าเป็นกันทั่วโลก ทำให้ทางเลือกในการนำเงินไปฝากธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยเป็นทางเลือกที่ไม่น่าสนใจอีกต่อไป ทำให้เกิดการออมเงินในรูปแบบใหม่ๆ หนึ่งในรูปแบบนั้นคือ การลงทุนแบบประจำ มีอะไรบ้างมาติดตามกัน

 

รูปแบบแรก “ออมด้วยกองทุนรวมแบบลงทุนประจำ”

การลงทุนในกองทุนรวมนั้นเป็นการที่เราซื้อสิ่งที่เรียกว่า หน่วยลงทุน ที่ถูกบริหารโดยผู้จัดการกองทุน และมีนโยบายการลงทุนในรูปแบบต่างๆ การซื้อกองทุนรวมจึงเท่ากับการจ้างมืออาชีพมาบริหารเงินให้เรา เพราะกองทุนรวมแต่ละกองจะมี ผู้จัดการกองทุนและลูกทีม ที่คอยมองหาโอกาสการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ให้กับเรานั่นเอง

อย่างไรก็ตามการลงทุนในกองทุนรวมเราสามารถทำให้เป็น การลงทุนแบบประจำ ได้ ด้วยการทยอยซื้อแบบถัวเฉลี่ยทุกเดือน โดยตัวเราเองสามารถแจ้งความจำนงที่จะซื้อกองทุนรวมด้วยการตัดจากบัญชีธนาคารอัตโนมัติทุกๆ เดือน แนวคิดก็คือ เราควรคำนวณว่าพอถึงปลายปีเราต้องเสียภาษีเท่าไร และจะต้องซื้อกองทุนรวมปริมาณเท่าไรจึงจะนำมาหักลดหย่อนภาษีได้

ยกตัวอย่างเช่น
หากเราสามารถนำเงินจากการลงทุนในกองทุนรวมมาหักลดหย่อนภาษีได้ปีละไม่เกิน 60,000 บาท เราก็ควรให้ตัดบัญชีเดือนละ 60,000 / 12 = 5,000 บาทต่อเดือน ถ้าเราสะสมกองทุนรวมแบบนี้ทุกๆ ปี ภายในสิบปีเราจะมีเงินเก็บสะสมในรูปแบบของการลงทุนในกองทุนรวมอย่างน้อย 6 แสนบาท (ยังไม่รวมผลตอบแทนจากการลงทุน) หากรวมผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมโดยเฉลี่ยแล้ว 5-10% ต่อปี จะดีกว่านำเงินไปฝากธนาคารที่ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอย่างแน่นอน

สิ่งที่เราต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมก็คือ นโยบายการลงทุนของแต่ละกอง เราต้องอ่านรายละเอียดหนังสือชี้ชวนเสียก่อนว่ากองทุนแต่ละกองลงทุนในอะไรบ้าง ในหุ้น ตราสารหนี้ หรือสินค้าทางการเงินประเภทอื่นๆ และเราสามารถที่จะรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหนก่อนตัดสินใจนั่นเอง 

รูปแบบที่สอง “ออมด้วยหุ้น แบบลงทุนประจำ”

การออมแบบลงทุนประจำนั้นไม่ได้จำกัดแค่กองทุนรวมแต่เพียงอย่างเดียว ทางเลือกที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ การลงทุนในหุ้น ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราวๆ 10-15% ต่อปี หากคุณลงทุนเป็น แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงที่สูงกว่าการลงทุนในกองทุนรวมข้างต้น
การออมในหุ้นแบบลงทุนประจำสามารถทำได้สองวิธี ได้แก่
1. เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นด้วยตนเองผ่านบริษัทหลักทรัพย์ และซื้อหุ้นด้วยตัวเองในสัดส่วนที่กำหนดเอาไว้ทุกๆ เดือน 
วิธีนี้ทำง่ายๆ ด้วยการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เสียก่อน โดยปัจจุบันสามารถเปิดบัญชีผ่านเคาเตอร์ของธนาคารแต่ละสาขาได้แล้ว และสะดวกรวดเร็วกว่าในอดีตมากมาย หลังจากนั้นต้องทำการโอนเงินเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่เราเปิดไว้ หรือผูกบัญชีออมทรัพย์เข้ากับบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ส่วนการซื้อหุ้นต้องใช้วินัยส่วนตัว คือ ทยอยซื้อหุ้นที่สนใจแบบถัวเฉลี่ย ทุกๆ เดือน สะสมไปเรื่อยๆ วิธีนี้เรียกศัพท์เทคนิคว่า “Dollar Cost Average” หรือการซื้อเฉลี่ยสะสม
2. วิธีที่สอง ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการตัดบัญชีซื้อหุ้นให้เราอัตโนมัติ 
วิธีนี้จะมีข้อจำกัดนิดหน่อยตรงที่มีบริษัทหลักทรัพย์เพียงไม่กี่แห่งที่จะเป็นธุระจัดการให้กับเรา โดยเราสามารถเปิดบัญชีซื้อหุ้นอัตโนมัติ แบบตัดเงินกับบัญชีที่ผูกเอาไว้ทุกๆ เดือนนั่นเอง
การออมเงินไว้ในหุ้นนั้นหลักใหญ่ใจความสำคัญก็คือ เราต้องซื้อหุ้นให้ถูกตัว และนั่นคือการตัดสินใจของเราเอง ไม่เหมือนกองทุนรวมที่จะมีคนตัดสินใจแทนเรา หากเราไม่มั่นใจว่าการตัดสินใจของเราจะดีพอเมื่อเทียบกับผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพ การเลือกออมในกองทุนรวมถือเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดเช่นกัน 

รูปแบบที่สาม “ออมในสลากออมสิน”

การลงทุนที่ยอดนิยมในช่วงที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการลงทุนในสลากออมสิน การลงทุนในฉลากออมสินถือเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด เนื่องจากเป็นทั้งการออมเงิน และลุ้นโชคไปพร้อมๆ กัน และเราก็สามารถทำการออมแบบนี้ให้เป็นระบบ ด้วยการซื้อฉลากออมสินแบบประจำทุกๆ เดือน แทนที่จะเอาเงินไปแทงหวยใต้ดิน ที่ถ้าไม่ถูกรางวัลก็หมดสิทธิ์ไปเลย แถมในปัจจุบันเราสามารถตรวจสอบผลรางวัลแบบออนไลน์ได้อีกด้วย สำหรับคนที่ชอบลุ้น สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่เลย  http://www.www.gsb.or.th/lotto.aspx 

การออมในรูปแบบอื่นๆ

สำหรับการออมแบบประจำโดยไม่ง้อการออมด้วยวิธีเดิมๆ นั้น แท้ที่จริงแล้วสามารถทำได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความถนัดของเราเอง รูปแบบดังกล่าว ได้แก่ ออมในอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโด หรือทาวน์เฮ้าส์ หรือแม้แต่ออมในทองคำ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงเสมอ อะไรที่ไม่เสี่ยงเลยผลตอบแทนย่อมต่ำเป็นธรรมดา ผู้ลงทุนอย่างเราควรศึกษาแนวทางการลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ
 

 

——————————————————-

Skip to content