วางใจให้ออมสิน

ดูแลความสุขของชีวิตคุณ

banner banner
หน้าหลัก > บล็อกการเงิน > Lifestyle > รู้ทัน 4 กลโกงในโลกไซเบอร์ พร้อมวิธีป้องกัน

รู้ทัน 4 กลโกงในโลกไซเบอร์ พร้อมวิธีป้องกัน

18 มิ.ย. 2562


 

เทคโนโลยีก็เหมือนกับดาบสองคมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่า จะเลือกใช้เทคโนโลยีในทางที่ดีหรือร้าย ซึ่งแน่นอนว่า ก็มีคนอยู่บางกลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน ในการหลอกลวงข้อมูล และโจรกรรมทรัพย์สินผ่านวิธีการต่าง ๆ ดังนั้น เราควรรู้ก่อนว่า อาชญากรรมทางการเงินในโลกไซเบอร์หลัก ๆ มีอะไรบ้าง และควรป้องกันอย่างไร

 

1. แสร้งเป็น Call Center หลอกให้โอนเงิน

เหล่ามิจฉาชีพจะใช้วิธีสุ่มเบอร์โทรศัพท์ แล้วปลอมเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคารหรือหน่วยงานรัฐบาล หลอกให้เราโอนเงินไปให้ โดยข้ออ้างที่พบเจอบ่อย ๆ ได้แก่ อ้างว่าบัญชีเงินฝากถูกอายัด อ้างว่าบัญชีเงินฝากมีส่วนเกี่ยวพันกับกระบวนการค้ายาเสพติดหรือแก๊งฟอกเงิน เป็นต้น
แนวทางป้องกัน : เราควรตรวจสอบที่มาของคน ๆ นั้นก่อนที่จะทำการโอนเงินไปให้ และระวังอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับแหล่งที่ไม่รู้จัก

 

2. สร้างตัวตนปลอมใน Social Network

กรณีนี้ก็มีเหยื่อเพิ่มขึ้นหลายรายแล้ว โดยผู้ไม่หวังดีจะสร้างตัวตนปลอมเลียนแบบเจ้าของเดิม แล้วติดต่อญาติหรือเพื่อนของเจ้าของจริงให้โอนเงินให้ อาจอ้างว่า เดือดร้อนจริง ๆ หรือขอยืมก่อน เดี๋ยวจะโอนคืนให้ทีหลัง หรือสร้างตัวตนปลอมที่มีโปรไฟล์ดี ๆ ไปเลย แล้วไปหลอกหญิงหรือชายอื่นในเชิงชู้สาว ก่อนจะให้เขาโอนเงินมาให้
แนวทางป้องกัน : ก่อนทำการโอนเงิน ควรตรวจสอบหรือติดต่อสอบถามเจ้าตัวให้แน่ใจเสียก่อนว่า ผู้ที่ติดต่อมาเป็นคนรู้จักของเราจริง ๆ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้บัญชีส่วนตัวใน Social Network ของเราโดนแฮก ควรตั้งรหัสผ่านให้ซับซ้อนและเข้าถึงยาก และควรเปลี่ยนรหัสใหม่ทุก ๆ 30-45 วัน ที่สำคัญคือไม่ควรใช้รหัสเดียวกันหมด

 

3. เปิดเว็บไซต์หลอกขายสินค้า หรือระดมทุนเพื่อการกุศล

มิจฉาชีพอาจสร้างเพจหรือเว็บไซต์ขายของออนไลน์ในลักษณะพรีออร์เดอร์ (Pre-Order) คือ ต้องชำระเงินเข้าไปก่อน ทางร้านจึงจะสั่งซื้อสินค้าตามรายการที่สั่งเข้ามา จากนั้นค่อยส่งสินค้าจริงให้ภายหลัง ซึ่งปกติแล้วก็จะใช้เวลาอยู่ร่วมเดือนกว่าจะได้ เหล่ามิจฉาชีพก็มักจะเปิดรับพรีออร์เดอร์ไว้มาก ๆ แล้วพอถึงเวลาปิดรับ ก็ปิดเว็บฯหนีหายไปเลยก็มี หรือจะเป็นการเปิดระดมทุนเพื่อการกุศลต่าง ๆ เช่น ช่วยเหลือเด็กยากไร้ ช่วยเหลือสัตว์พิการ แล้วพอได้เงินก็หนีไปทันที ไม่ได้ไปทำบุญจริงอย่างที่อ้าง
แนวทางป้องกัน : ก่อนทำการสั่งซื้อสินค้า ควรศึกษาร้านค้านั้นให้ดีว่า มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน มียอดผู้ติดตามหรือเป็นลูกค้าของร้านอยู่เยอะไหม มีรีวิวเก่า ๆ จากลูกค้าเดิมบ้างไหม หรือถ้าเป็นการระดมทุนเพื่อการกุศล ควรตรวจสอบว่า หน่วยงานไหนเป็นผู้สนับสนุน หรือถ้ามีเบอร์ติดต่อก็ควรโทรสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดอีกที ก่อนตัดสินใจร่วมสมทบทุน

 

4. ล่อลวงข้อมูลผ่านทางอีเมล (Email Scam)

หน้าตาของอีเมลลักษณะนี้จะคล้าย ๆ Spam Mail หรือเมลขยะ แต่อีเมลสแกมจะมีจุดประสงค์ให้เหยื่อทำอะไรบางอย่างที่ชัดเจนเพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัว เช่น หลอกให้กรอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบัญชีธนาคาร โดยอาจปลอมแปลงเว็บไซต์ให้มีหน้าตาเหมือนเว็บไซต์ธนาคาร หรือร้านค้าออนไลน์, หรือหลอกให้แชร์ข้อมูลต่อ ๆ ไปโดยอ้างว่า ถ้าแชร์ข้อความแล้วกรอกข้อมูลส่วนตัว จะได้รับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษบางอย่าง เป็นต้น
แนวทางป้องกัน : ระวังอีเมลแปลก ๆ จากผู้ส่งที่ไม่ทราบที่มา หรือไม่กดลิงก์จากอีเมลโดยตรง แต่ให้พิมพ์ URL เข้าสู่เว็บไซต์นั้น ๆ แทน

 

คำแนะนำเหล่านี้ ก็จะช่วยให้การทำธุรกรรมทางออนไลน์ของเรามีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และไม่ตกเป็นเหยื่อของวายร้ายในโลกไซเบอร์ ทางธนาคารออมสินเอง ก็ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามทางอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ จึงได้จัดตั้งโครงการออมสินสีขาวขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และประชาสัมพันธ์ เรื่อง “Cyber Security Awareness รู้ทัน ป้องกัน ปลอดภัย” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า และคู่ค้าของธนาคารเองด้วย

 

————————————————

Skip to content