วางใจให้ออมสิน

ดูแลความสุขของชีวิตคุณ

banner banner
หน้าหลัก > บล็อกการเงิน > Lifestyle > กลยุทธ์เก็บเงินสไตล์มนุษย์เงินเดือน

กลยุทธ์เก็บเงินสไตล์มนุษย์เงินเดือน

19 มิ.ย. 2562

• แบ่งเงินเดือนเป็นสามส่วน

 พอเงินเดือนออกปุ๊บ อย่าเพิ่งใช้ ให้แบ่งเงินออกเป็นสามส่วน คือ เงินออม 10% ลงทุน 30% และใช้จ่ายประจำวันรวมถึงภาษีสังคม และอื่นๆ 40%
เงินออม
 บางคนอาจจะออมเป็น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต เงินฝากปลอดภาษี แม้แต่ประกันสังคมก็ถือว่าเป็นเงินออมเช่นกัน นอกจากนี้ก็เป็นเงินฝากในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ได้ฝากเงินกับธนาคาร เช่น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น
ลงทุน
 เช่น ซื้อหน่วยลงทุนต่างๆ เช่น LTF , RMF, การซื้อที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ใช้จ่ายประจำวันและภาษีสังคม
 แบ่งเป็นวันๆ ไปเลยว่าวันหนึ่งใช้เงินได้เท่าไร รวมค่าเดินทาง ค่าอาหาร จิปาถะ และสังสรรค์ ถ้าเหลือในแต่ละวันก็โยกไปเป็นเงินออมได้

 

• ปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับรายได้

 การเลิกยึดติดกับความสะดวกสบายและใช้เงินเกินตัว ก็ช่วยให้คุณมีเงินเก็บได้มากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการซื้อกาแฟแล้วละ 150 บาท เป็นชงกาแฟดื่มเองที่ออฟฟิศ กินข้าวกลางวันข้างนอกบ้างอาจจะอาทิตย์ละครั้งหรือสองครั้ง เปลี่ยนสถานที่ออกกำลังจากฟิตเนสที่ต้องเสียค่าใช้บริการเป็นสวนสาธารณะใกล้บ้าน เพราะเดี๋ยวนี้ตามสวนสาธารณะก็มีเครื่องออกกำลังกายหลากหลายประเภทให้เล่น และตั้งงบช็อปปิ้งในแต่ละเดือน สังสรรค์พอประมาณ เป็นต้น

 

• เก็บโบนัสไว้ลงทุน

 บางคนอาจจะคิดว่าโบนัส คือเงินก้อนที่เราจะเอาไปใช้จ่ายอะไรก็ได้เพื่อเป็นการให้รางวัลตัวเองหลังจากที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งปี แต่จริงๆ แล้ว เราควรนำโบนัสไปลงทุนหรือออมจะดีกว่า อาจจะแบ่งไปใช้ได้ แต่ไม่ควรเกิน 30% ของโบนัสที่ได้

• อย่าใช้ให้เท่ากับที่หามาได้

 อย่าคิดว่า ฉันเหนื่อยมากกว่าจะหาเงินมาได้ เพราะฉะนั้นฉันจะใช้เงินเท่าไหร่ก็ได้เท่าที่ฉันพอใจ สุดท้ายคุณจะไม่มีเงินเหลือเก็บเลยสักบาทเดียว

• จดบันทึกรายรับและรายจ่าย

 การจดรายรับ-รายจ่ายไม่ใช่เรื่องเสียเวลา เพราะทุกๆ สิ้นเดือนคุณจะได้รู้ว่า สิ่งฟุ่มเฟือยที่คุณควักเงินให้มีอะไรบ้าง เดือนต่อๆ ไปคุณจะได้กำจัดมันทิ้งไป แล้วเปลี่ยนเป็นนำเงินส่วนนั้นไปออมแทน

• บัตรเครดิตมีไว้ยามฉุกเฉินเท่านั้น

 สมัยนี้ใครๆ ก็มีบัตรเครดิตได้ แต่มีไม่มากที่จะหักห้ามใจและควบคุมไม่ให้รูดเอารูดเอา มีน่ะมีได้ แต่เอาไว้ใช้เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินจะดีกว่า เช่น จ่ายค่ารักษาพยาบาล หรืออาจจะซื้อของที่ไม่อยากใช้เงินก้อน เพราะเอาเงินไปลงทุนก่อนจะดีกว่า เป็นต้น ทุกครั้งที่รูดบัตร ให้กันเงินออกมาเพื่อเอาไว้จ่ายตอนที่บิลแจ้งหนี้ส่งมาถึงคุณทันที ไม่ควรคิดว่าไม่เป็นไร เอาเงินเดือนเดือนหน้าจ่ายก็ได้ เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะเป็นคนที่ใช้เงินแบบ “เดือนชนเดือน”

• ทำหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง

 เช่น ทำอาหารไปกินตอนเช้าง่ายๆ เพราะเวลาซื้อครั้งเดียวสามารถเก็บไว้ทำได้อีกหลายวัน ประหยัดไปได้อีกหนึ่งมื้อ หากสถานที่ที่คุณจะไปอยู่ไม่ไกลนัก และสามารถเดินไปได้โดยไม่ต้องขึ้นรถก็คิดเสียว่าเป็นการออกกำลังกายไปในตัว หรือทำของขวัญเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ แทนที่จะไปซื้อของแพงๆ นอกจากจะประหยัดแล้ว คนที่ได้รับยังประทับใจอีกด้วย

• เสียน้อยเสียมาก เสียยากเสียง่าย

 บางครั้งลงทุนซื้อของดีมีคุณภาพมาใช้ แต่ใช้ได้นานก็ดีกว่าซื้อของเพราะราคาถูก แต่คุณภาพใช้ได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องโยนทิ้ง แล้วก็ต้องซื้อบ่อยๆ ซื้อเรื่อยๆ อย่าลืมว่าคิดให้ดีก่อนซื้อของแต่ละครั้ง

• ตั้งเป้าหมายการเก็บเงิน

 แต่ละคนมีเป้าหมายในการเก็บเงินที่ต่างกัน เช่น ภายในสองปีต้องเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศให้ได้ ปีนี้ต้องเก็บเงินดาวน์รถยนต์ให้ได้ 30% เป็นต้น ถ้ามีเป้าหมายชัดเจน จะทำให้คุณมีแรงฮึดในการทำงาน และไม่ใช้ชีวิตเพื่อให้หมดไปวันๆ

————————–

Skip to content