อย่างไรก็ตามเทคนิคการใช้บัตรเครดิตไม่ได้มีแค่เอาไว้รูดซื้อสินค้า และบริการต่างๆ เท่านั้น เทคนิคการใช้บัตรเครติดให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีอะไรบ้าง ติดตามกันเลยดีกว่า
เทคนิคแรก “ใช้บัตรเครดิตในยามฉุกเฉิน”
การใช้บัตรเครดิตในยามฉุกเฉินนั้นหากเรารู้จักใช้อย่างมีสติ ก็จะช่วยให้เรามีสภาพคล่อง หรือมีเงินใช้ได้อย่างไม่ขาดมือ ยกตัวอย่างเช่น เรานำเงินที่สามารถเบิกได้มาใช้จ่ายไปก่อนยามฉุกเฉิน หากเราป่วยไม่สบายต้องเข้าโรงพยาบาล และเราต้องชำระค่ารักษาพยาบาลก่อนค่อยนำบิลไปเบิกกับหน่วยงานของเราทีหลัง เราสามารถใช้บัตรเครดิตรูดเพื่อชำระค่ารักษาไปก่อน ทำให้เราไม่ต้องเสียเงินสดในมือไว้ใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ และตอนปลายเดือนเราก็สามารถนำบิลไปเบิกค่ารักษากับหน่วยงานที่เราทำงาน และชำระเงินทีหลังได้นั่นเอง
เทคนิคที่สอง “ใช้บัตรเครดิตหมุนเงิน”
การใช้บัตรเครดิตหมุนเงินนั้นเราต้องเข้าใจไว้ก่อนว่า หากค่าใช้จ่ายที่เราต้องใช้เครดิตไปหมุน เป็นค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง คือ เป็นการจ่ายโดยไม่มีเงินหมุนกลับมา การที่เราใช้เครดิตไปก่อนจะเป็นเรื่องที่อันตราย แต่หากค่าใช้จ่ายที่เราต้องใช้เครดิตไปหมุนก่อนเป็นค่าใช้จ่ายที่มีกระแสเงินสดไหลกลับมา แบบนี้เราก็สามารถใช้บัตรเครดิตหมุนเงินไปก่อนได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องซื้อคอมพิวเตอร์ซักเครื่อง เพื่อนำมาใช้ทำงานเสริมที่มีรายรับจากลูกค้าแน่นอนแล้ว แต่เรายังไม่มีเงินสดที่จะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ เราก็สามารถใช้บัตรเครดิตรูดซื้อไปก่อน และเมื่อเราได้รับค่าจ้างจากงานเสริม ก็สามารถนำมาชำระทีหลังได้ เป็นต้น
เทคนิคที่สาม “ใช้บัตรเครดิตผ่อนชำระสินค้า”
บัตรเครดิตหลายแห่งจะมีโปรโมชั่นที่ทำให้ผู้ใช้บัตรอย่างเราได้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรโมชั่นผ่อนชำระสินค้าแบบ 0% ยกตัวอย่างเช่น เราต้องซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามาใช้ภายในบ้านในราคาที่ค่อนข้างสูงถ้าเราต้องจ่ายในงวดเดียว เราก็สามารถเลือกผ่อนชำระ 0% 4 งวดได้ ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนลงไปได้มาก แม้ต้องใช้เวลาผ่อนนานถึงสี่งวดสี่เดือน แต่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ลดลงไปก็ทำให้เราเบาลง แถมยังสามารถเป็นเจ้าของสินค้าที่เราต้องการได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
เทคนิคที่สี่ “พยายามใช้สิทธิประโยชน์ของบัตรให้เต็มที่”
การใช้บัตรเครดิตอย่างคุ้มค่าต้องพยายามใช้สิทธิประโยชน์ของบัตรให้เต็มที่ บัตรบางใบก็ลดค่าอาหารได้ด้วยการสะสมแต้ม หรือได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ดังนั้นก่อนใช้บัตรเราควรใช้บัตรกับสินค้า หรือบริการที่สามารถควบคุมการจ่ายได้เอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ
ยกตัวอย่างเช่น ค่าน้ำมัน เป็นค่าใช้จ่ายที่ถือเป็นเรื่องปกติที่รถเราจะต้องเติมเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะจ่ายเงินสดมันก็อยู่ในมูลค่าที่เท่ากันอยู่ดี ทางเลือกก็คือ เราสามารถเก็บเงินสดเอาไว้ทำอย่างอื่น แล้วใช้บัตรเครดิตจ่ายแทน เพื่อช่วยสะสมแต้มให้ได้คะแนนนำไปแลกของที่เราต้องการได้อีกด้วย
ค่าใช้จ่ายซื้อของในซูเปอร์มาร์เกตอย่างน้อยเราก็ต้องเข้าไปจับจ่ายใช้สอยข้าวของจิปาถะเดือนละ 1-2 ครั้ง การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะช่วยให้เราสะดวกสบาย แถมยังเพิ่มความรอบคอบ และการควบคุมการใช้จ่ายได้อย่างดี เนื่องจากใบแจ้งหนี้จะต้องแจ้งยอดใช้จ่ายในแต่ละเดือน ทำให้เราสามารถเช็คค่าใช้จ่ายได้ว่าในแต่ละเดือน เราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน ทำให้เรารู้ว่าควรจะลดลง หรือประหยัดอะไรบ้างในคราวต่อไป
เทคนิคสุดท้าย “ใช้บัตรเครดิตด้วยสติ”
เมื่อมีสติ สตางค์ก็อยู่กับเรา การใช้บัตรเครดิตไม่ได้เป็นการใช้เงินจริงๆ ออกไปตั้งแต่แรก หากเราเพลิดเพลินกับการใช้บัตรมากจนเกินควร อาจเกิดปัญหาหนี้สินตามมา ทางที่ดีหากไม่จำเป็นจริงๆ เราไม่ควร “จ่ายขั้นต่ำ” เนื่องจากส่วนที่เราไม่ได้จ่ายจะถูกคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่เรารูดบัตร “ทันที” หนี้ก้อนใหญ่เริ่มจากหนี้ก้อนเล็กๆ เสมอ หากเรามีสติควรใช้บัตรอย่างรอบคอบ ใช้เมื่อจำเป็น จ่ายเต็มจำนวน ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้อย่างแน่นอน
เน้นย้ำว่า… สิ่งที่สำคัญก็คือหลังจากที่เราใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตแล้ว เราควรชำระเต็มจำนวน เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่เราชำระไม่หมดค่อนข้างจะสูง และธนาคารผู้ออกบัตรจะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่เรารูดใช้จ่าย หากเราใช้จ่ายอย่างไม่เหมาะสม และไม่ระมัดระวังอาจทำให้เราอยู่ในความเดือดร้อนตกเป็นลูกหนี้ได้นะครับ
—————————————————————