คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ
1. เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
2. นิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย โดยให้ตรวจสอบงบการเงินจากระบบเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ (Enlite) หรือจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) จะต้องมีส่วนทุนเป็นบวกก่อนการขอกู้เงิน หากพบว่ามีส่วนทุนติดลบ ให้ดำเนินการเพิ่มทุนให้เป็นบวกให้แล้วเสร็จก่อนเสนอขออนุมัติและให้คงส่วนทุนเป็นบวกตลอดระยะเวลาของสัญญากู้
3. ต้องไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ดังนี้
- ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขายฝาก หรือธุรกิจการให้สินเชื่อที่มีลักษณะเดียวกับธนาคาร
- ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจเก็งกำไรที่ดิน เช่น ธุรกิจนายหน้า หรือตัวแทน
วัตถุประสงค์
- เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กิจการ/เพื่อการลงทุน
- เพื่อไถ่ถอนจากการขายฝากเอกชนที่ทำสัญญาขายฝาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ไม่ให้ไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น หรือไม่ให้ไถ่ถอนจำนองจากเจ้าหนี้เงินกู้
ประเภทสินเชื่อ
- เงินกู้ระยะยาว (L/T)
จำนวนเงินให้กู้
ให้กู้ไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการ ทั้งนี้ ไม่นำราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง และต้นไม้ที่มีมูลค่า มาคำนวณจำนวนเงินให้กู้ โดยกำหนดวงเงินให้กู้ต่อราย ดังนี้
- กรณีผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา จำนวนเงินให้กู้ตั้งแต่ 0.30 – 10 ล้านบาท
- กรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล จำนวนเงินให้กู้ตั้งแต่ 0.30 – 50 ล้านบาท
ทั้งนี้ วงเงินกู้สูงสุดจะต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของรายได้รวมของงบการเงิน (รอบบัญชีปี 2562 – ปี 2564 แล้วแต่กรณีใดสูงกว่า)
ระยะเวลาชำระเงินกู้
สูงสุดไม่เกิน 7 ปี รวมระยะปลอดชำระเงินต้น 2 ปี
- ปีที่ 1 – 2 ชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน
- ปีที่ 3 – 7 ชำระเงินงวดเท่ากันทุกเดือน
ให้ลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกและนำเงินเข้าบัญชี เพื่อสำรองการชำระหนี้ 6 เดือน โดยให้คำนวณจากจำนวนเงินชำระดอกเบี้ย 6 เดือน และให้ลูกค้าให้ความยินยอมในการให้ธนาคารอายัดจำนวนเงินในบัญชีเพื่อสำรองการชำระหนี้ตามเงื่อนไข ตั้งแต่ปีที่ 1 เป็นต้นไปตลอดอายุสัญญา
อัตราดอกเบี้ย
- อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 5.99 ต่อปี ตลอดอายุสัญญากู้เงิน
- อัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดไม่ชำระหนี้ ให้เป็นไปตามประกาศธนาคารออมสิน เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ กรณีสินเชื่อธุรกิจและ SMEs
หลักประกันการกู้เงิน
- ที่ดินว่างเปล่า และ/หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน ทั้งนี้ หากขอกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง/เพื่อการลงทุน หลักประกันต้องปลอดภาระผูกพันก่อนขอกู้เงิน
- เจ้าของกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์ จะต้องถือกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2563
- กรณีผู้กู้เป็นบุคคลธรรมดา เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องเป็นของผู้กู้ และ/หรือคู่สมรส/ผู้ค้ำประกันในวงเงินสินเชื่อเดิม และ/หรือบุตร บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ น้อง ร่วมบิดา/มารดาเดียวกันของผู้กู้/คู่สมรส/ผู้ค้ำประกันในวงเงินสินเชื่อเดิม
- กรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องเป็นของผู้กู้ และ/หรือ ผู้ถือหุ้น/กรรมการ/กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ผู้ค้ำประกันในวงเงินสินเชื่อเดิม และ/หรือ
– คู่สมรส บุตร บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ น้อง ร่วมบิดา/มารดาเดียวกันของผู้ถือหุ้น/กรรมการ/กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม/ผู้ค้ำประกันในวงเงินสินเชื่อเดิม
– บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ น้อง ร่วมบิดา/มารดาเดียวกันของคู่สมรสของผู้ถือหุ้น/กรรมการ/กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม/ผู้ค้ำประกันในวงเงินสินเชื่อเดิม
– นิติบุคคลในกลุ่มกิจการเดียวกัน
หมายเหตุ
- หลักประกันการกู้เงินครั้งนี้ ต้องมีไฟฟ้าผ่าน และให้คำนึงถึงทำเลที่ตั้งของที่ดินต้องมีทางเข้า – ออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งรถยนต์ผ่านเข้า-ออกได้สะดวก
- กรณีรับหลักประกันที่ดินที่มีการรอนสิทธิทั้งแปลงหรือบางส่วน
(1) กรณีการให้เช่าที่ดิน และหรือสิ่งปลูกสร้าง ทั้งกรณีมีสัญญาเช่าและไม่มีสัญญาเช่า ต้องมีระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 3 ปี (ไม่จดทะเบียนสัญญาเช่า ณ สำนักงานที่ดิน) สามารถรับเป็นหลักประกันได้
(2) กรณีการให้เช่าที่ดิน และหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่มีสัญญาเช่าและระยะเวลาการเช่าเกินกว่า 3 ปีขึ้นไป (จดทะเบียนสัญญาเช่า ณ สำนักงานที่ดิน) ให้รับเป็นหลักประกันได้ในกรณีมีการเช่าที่ดินและหรือสิ่งปลูกสร้างไม่เกิน 20% ของเนื้อที่ดินทั้งหมด ให้กำหนดวงเงินให้กู้ โดยหักเนื้อที่ดินและหรือสิ่งปลูกสร้าง ในส่วนของการเช่าออกจากราคาประเมินที่ดินทั้งหมด
(3) ในกรณีหลักประกันที่ดินที่มีการรอนสิทธิทั้งแปลงหรือบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นการรอนสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ในกรณีนอกเหนือจากข้อ (1) และ (2) ไม่สามารถรับเป็นหลักประกันได้ เช่น ภาระสิทธิเก็บกิน
- ไม่รับที่ดินที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดินที่ไม่มีทางเข้า-ออก ที่ดินที่ถูกขุดหน้าดินขาย ที่ดิน ที่ขุดบ่อแล้วมีมูลค่าเสื่อมลง ที่ดินที่มีบ่อน้ำในกรณีที่เป็นบ่อเลี้ยงปลา/กุ้ง/สัตว์น้ำ/สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ/อื่น ๆ หรือร่องน้ำขนาดใหญ่ ที่ดินใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน (เขตสงวนหวงห้ามของรัฐ เช่น ป่าสงวน ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน)
ทั้งนี้ ให้สามารถรับที่ดินที่มีบ่อน้ำได้ในกรณีบ่อน้ำที่มีลักษณะการใช้งานเพื่อปรับภูมิทัศน์ หรือเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน เช่น บ่อน้ำเพื่อสำรองน้ำใช้ในการเกษตร โดยให้ธนาคารออมสินเขตซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบสภาพที่ดิน/คณะกรรมการรับราคาประเมินหลักทรัพย์ เป็นผู้ให้ความเห็นว่ากรณีที่ดิน ที่มีบ่อน้ำเป็นการปรับภูมิทัศน์หรือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินหรือไม่
- กรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมิใช่เป็นบุคคลเดียวกัน ต้องให้เจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจัดทำสัญญาจำนองสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักประกันร่วมด้วย
วงเงินโครงการ
- ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท
ระยะเวลาโครงการ
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารออมสินได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 หรือจนกว่าจะครบกำหนดวงเงิน 5,000 ล้านบาท แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน
ค่าธรรมเนียม
- ให้ยกเว้น ค่าธรรมเนียมกรณีผู้กู้ชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้น หรือไถ่ถอนจำนองก่อนครบกำหนดในทุกกรณี (Prepayment) ภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ลงนามในสัญญากู้เงิน
- ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังนี้
– ค่าธรรมเนียมการให้บริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจ (ค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ : Management Fee หรือค่าธรรมเนียมวิเคราะห์โครงการ : Front End Fee) ในอัตราร้อยละ 1.00 ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ
– กรณีใช้ราคาประเมินที่ดินของทางราชการ ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจสภาพที่ดิน และ/หรืออาคาร ครั้งละ 800 บาท ในกรณีเพื่อพิจารณาสินเชื่อใหม่เท่านั้น ทั้งนี้ ในกรณีทบทวนหลักประกันไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้
– ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ให้เป็นไปตามประกาศธนาคารออมสิน เรื่อง อัตราค่าธรรมเนียมบริการประเภทต่าง ๆ