ก่อนจะเห็นเป็นการออมทรัพย์ในระบบ ธนาคารเช่นทุกวันนี้ การออมทรัพย์เริ่มเกิดขึ้นเป็นรูปร่างเมื่อราวสองร้อยกว่าปี หรือประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๖ มานี้เอง โดยกำเนิดจากความคิดของเศรษฐีชาวอังกฤษผู้ใจดีท่านหนึ่ง ซึ่งมีความตั้งใจจริงในการความช่วยเหลือคนยากจนให้มีที่เก็บออมทรัพย์เพื่อ ไว้ใช้ ในภายหน้า ความคิดนี้ได้มีบทบาทสำคัญเป็นอันมากและมีการพัฒนาต่อมา จนถึงกับออกประกาศอย่างเป็นทางการ ในเรื่องคลังออมสิน
ต้นแบบการออม ทดลองฝึกหัด และขัดเกลา
หลังจากทรงเสด็จนิวัตประเทศไทยแล้ว พระองค์จึงมี พระราชประสงค์จะทรงฝึกหัดพวกมหาดเล็กเด็กชาให้รู้จักเก็บออม เงินไว้แต่เมื่อยังเป็นเด็ก ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๕๐ พระองค์จึงทรงจัดเตรียมสำนักงานคลัง ออมสินขึ้น ณ วังที่ประทับของพระองค์ คือพระตำหนัก สวนจิตรลดา (พระตำหนักหลังเหนือซึ่งรวมอยู่ใน บริเวณสวนปารุสกวัน) พร้อมด้วยสมุดบัญชี เอกสาร และตู้เซฟ เมื่อได้ทรงเตรียมการไว้เรียบร้อย วันหนึ่ง พระองค์จึงมีรับสั่งให้มหาดเล็กเด็กชาของพระองค์ขึ้นเฝ้าพร้อมกัน ณ มุขพระตำหนักชั้นบนแล้วก็ทรงประกาศ ตั้งแบงค์ พร้อมกับทรงชี้แจงรายละเอียดถึงวิธีการฝากเงิน และการถอนเงิน ตลอดจนระเบียบแบบแผนข้อบังคับต่างๆ ของแบงค์ให้เข้าใจโดยทั่วกันและทรงพระราชทานนามแบงค์นั้นว่า “ลีฟอเทีย”
จึงนับได้ว่าในยุคบุกเบิกของแบงค์จำลอง เริ่มจากการที่มีเจ้าของ แบงค์กรรมการ และพนักงาน รวมทั้งหมด ๔ ท่าน สมัยนั้นมหาดเล็กเด็กชาที่ได้เงินเดือนกันคนละ ๕ บาท บ้าง ๑๐ บาทบ้าง ปกติก็ไม่มีเรื่องจำเป็นจะต้องใช้จ่ายอะไรมากนัก เพราะทุกอย่างได้พระราชทานให้พร้อมสรรพแล้ว เว้นแต่จะซื้อของเล่น เพื่อเป็นที่บันเทิงใจบ้างเท่านั้น ดังนั้นเด็กบางคนจึงคิดดีใจว่าฝากแบงค์ไว้ก็ดี เพราะไม่ต้องเก็บเงินไว้เองซึ่งอาจจะสูญหายได้
นอกจากจะปลอดภัยไม่หายแล้วยังได้ดอกเบี้ยเพิ่มพูนขึ้นอีกด้วย แต่เด็กบางคนก็คิดว่าเป็นความลำบาก เพราะเมื่อจะเบิกเงิน ไปใช้ พระองค์จะต้องทรงสั่งจ่าย หากจะทรงสอบถามเหตุผล ถ้าทรงทราบว่าเบิกเงินไปซื้อของเล่นหรือใช้ไปในทางที่ไม่สมควร อาจจะถูกกริ้ว จึงรู้สึกไม่สะดวกใจ แต่บางคนที่มีปัญญาดีความคิดสูงก็บอกว่าดีเพราะพระองค์รับสั่งถึงวิธีที่โอ เวอร์ดรอว์ได้ เช่น เงินเดือน ๕ บาท จะเบิกได้สัก ๗ หรือ ๘ บาท เป็นการเพิ่มเงินเดือนไปในตัว
แต่ในเบื้องต้นแทบทุกคนก็ไม่เข้าใจว่า พระองค์ทรงเล่นแบงค์ไปทำไม ให้เป็นงานเป็นการขึ้นเปล่าๆ เป็นการเสียเวลา พวกเขาก็ต้องมีสมุดเช็ค ต้องมีเสมียนคอยทำบัญชีพระองค์ก็ต้องทรงเซ็นต์สั่งจ่ายเงิน และตรวจบัญชีให้ยุ่งยากไปด้วย
จากจุดเริ่มต้นนี้เอง ที่พระองค์ทรงใช้ศึกษาและสำรวจนิสัยของคนไทยในการออมทรัพย์เป็นเบื้องแรก จนต่อมาเมื่อทรงตั้งคลังออมสินขึ้น จึงทรงเข้าอกเข้าใจในราษฎรของพระองค์อย่างยิ่ง ทรงทราบดีว่าควรจะใช้กุศโลบายใดอันจะจูงใจคนไทยให้มองเห็นความสำคัญของการเก็บออม